fbpx
Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

วิกฤตเศรษกิจ: จุดเริ่มต้นและจุดจบของ Bitcoin?

สัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่น่าพิสมัยนักสำหรับนักลงทุน เพราะทั้งตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ หรือแม้แต่ตลาดคริปโตเคอเรนซี่ต่างปรับตัวลงมาอย่างรุนแรง จนหลายฝ่ายหวาดหวั่นว่าเรากำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่หรือไม่ แม้ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยลบภายนอกอย่างเช่นสภาวะโรคระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่นั่นอาจเป็นเพียงตัวเร่งให้เศรษฐกิจที่สร้างอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มั่นคงนั้น “พังทลายลงมา”

กำเนิดมาจากเถ้าถ่าน

วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดคงจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์วิกฤตซับไพร์ม หรือที่รู้จักกันในชื่อ แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ในปี 2008 ซึ่งปัญหาที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตในครั้งนั้นไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับถูกซุกไว้ใต้พรม และธนาคารกลางยังได้ออกนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดอย่างเช่นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate) และการทำ Quantitative Easing (QE) หรือการพิมพ์เงินออกมาเพื่อนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุ้มบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ไม่ให้ล้มนั่นเอง

หลายคนเห็นว่าการแก้ปัญหาเช่นนี้นั้นเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ สาเหตุที่แท้จริงที่มาจากความโลภและความหละหลวมในนโยบายการควบคุมดูแลทางการเงินไม่เคยได้รับการแก้ไข นาย Satoshi Nakamoto ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นถึงปัญหาเหล่านั้น เขาจึงทำการสร้างเงินคริปโตเคอร์เรนซี่สกุลแรกของโลกขึ้นมาที่เรารู้จักกันดีในนาม Bitcoin เมื่อปี 2008 โดยปล่อย Whitepaper ที่มีหัวข้อว่า Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System อธิบายการทำงานของระบบการเงินที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจและตัวกลางอีกต่อไป เจ้าเหรียญสีส้มนี้ถูกโปรแกรมไว้ให้มีจำนวนจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ไม่สามารถทำซ้ำหรือผลิตออกมาเพิ่มได้อีก ทั้งยังขจัดตัวกลางที่คอยบิดเบือนระบบอย่างธนาคารกลางออกไป แล้วเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามาดูแลการทำธุรกรรมและระบบบัญชีกันเองในระบบกระจายศูนย์ที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้โดยระบบที่เรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain)

นับตั้งแต่การถือกำเนิดของ Bitcoin สภาวะเศรษฐกิจโลกก็กลับมาฟื้นตัวและเข้าสู่ตลาดกระทิงยาวนานต่อเนื่องถึงเกือบ 12 ปี โดยระหว่างนั้น Bitcoin ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่สดใส แต่จนมาถึงในวันนี้ วันที่โลกกำลังจะถลำลงไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ Bitcoin จะสามารถพิสูจน์ตัวเองและยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้รับมือได้หรือไม่?

บททดสอบสำคัญ

Bitcoin นั้นมีอายุเพียงแค่ 11 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ใหม่มาก ๆ เมื่อเทียบกับทองคำ หรือแม้แต่ตลาดหุ้นที่ถือกำเนิดมานานกว่า 400 ปีแล้ว แม้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ Bitcoin นั้นยังไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วในการทำธุรกรรมเมื่อมีผู้ใช้ที่มากขึ้นอย่างเมื่อตอนปลายปี 2017 ที่ค่าธรรมเนียมเคยพุ่งขึ้นสูงถึง 50 ดอลลาร์ต่อการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง หรือไม่ว่าจะเป็นการที่มันยังไม่เคยผ่านการทดสอบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาก่อน ราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ Bitcoin ในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจมีผลมาจากอาณิสงค์ของสภาวะตลาดหุ้นที่คึกคักและสดใส ทำให้ผู้คนกล้าที่จะลองเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่นเงินดิจิทัล แต่ถ้าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ขึ้นในปีนี้ Bitcoin อาจไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัย หรือ Safe Haven Asset อย่างที่นักลงทุนหลายคนคาด เพราะ Bitcoin ยังคงต้องการเวลาในการพิสูจน์ตัวเอง ไม่เพียงแต่ต่อนักลงทุนที่เข้าใจในตัวมันเป็นอย่างดี แต่ต่อประชาชนและนักลงทุนทั่วไปที่ต้องเข้าใจถึงคุณสมบัติอันแสนพิเศษของมัน จนทำให้พวกเขาเลือกที่จะหันมาหา Bitcoin เมื่อรู้สึกว่าสินทรัพย์เงินทองของเขานั้นกำลังตกอยู่ในอันตราย และไม่มองว่า Bitcoin เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในการเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว

อนาคตของ Bitcoin

แม้ Bitcoin อาจจะยังไม่พร้อม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับมัน แต่สภาวการณ์ตลาดตอนนี้ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้เฝ้ามองดู Bitcoin ถูกทดสอบอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก โดยคุณสมบัติพิเศษที่ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของนั้นมีอำนาจควบคุมทรัพย์สินของตนเองอย่างเบ็ดเสร็จ จำนวนที่มีจำกัด และความมั่นคงในหลักการ จะเป็นความแข็งแกร่งที่ช่วยให้ Bitcoin สามารถยืดหยัดอยู่ได้แม้ขณะที่ตลาดทุนอื่น ๆ กลับล้มลง จนในที่สุดแล้วนั่นอาจกลายเป็นเชื้อเพลิงให้ Bitcoin ทะยานไปข้างหน้าอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้จะมีโอกาสที่ราคาของมันอาจร่วงลงไปพร้อม ๆ กับตลาดโลกและส่งผลให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่กลับเข้าสู่สภาวะตลาดหมีไปอีกอย่างน้อยหนึ่งถึงสองปี แต่ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นไปในทิศทางใด ด้วยคุณสมบัติที่เป็น Sound Money และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันนั้นจะทำให้ Bitcoin สามารถกลับมาเพื่อพิสูจน์ตัวเองได้อีกครั้งในอนาคตอย่างแน่นอน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง: Bitcoin Halving คืออะไร? เมื่อบิทคอยน์โดนหั่นครึ่ง

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN