fbpx
Skip to content Skip to footer

ได้เวลา “หยวนดิจิทัล” ผงาดท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

หยวนดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจีนใกล้จะถึงเวลาที่จะออกมาอวดโฉมต่อหน้าชาวโลกในอีกไม่นานแล้ว หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โปรเจคท์ดังกล่าวล่าช้าออกไป แม้ในระยะแรกจะจำกัดการใช้งานในวงจำกัดก่อน 

แต่นาทีนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ หยวนดิจิทัล จะเป็น CBDC แรกของโลกที่ออกมาจากธนาคารกลางและน่าจะช่วยให้จีนสามารถครองความเป็นผู้นำในสกุลเงินดิจิทัลของโลกได้ทีเดียว

จากแนวโน้มที่คนทั้งโลกจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนมาทำธุรกรรมการเงินออนไลน์มากขึ้นหลังจบการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการใช้งานเหรียญและธนบัตรที่อาจเป็นพาหะของไวรัสได้รวมถึงมาตราการ Lockdown ที่ห้ามออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น การเปิดตัวหยวนดิจิทัลในตอนนี้จึงเป็นจังหวะที่ดีมาก

จีนออกตัวก่อนและมีความพร้อมมากกว่าใครในโลก

แม้ว่าจะมีธนาคารกลางหลายแห่งของโลกที่เริ่มทดลองหรือนำ CBDC ของตัวเองมาใช้ภายในประเทศ เช่น ประเทศในแถบคาริเบียน  แต่หากเปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจและความนิยมในสกุลเงินแล้วยังมีขนาดเล็กกว่าเงินหยวนของจีนหลายเท่า

ขณะที่ชาติในยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสที่เริ่มออกตัวแรงในการผลักดันสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางรวมถึงการสร้างเงินยูโรดิจิทัลแต่ยังถือว่าตามหลังจีนอยู่อีกมากและการที่อยู่ในสหภาพยุโรป การผลักดันสกุลเงินใหม่ต้องใช้เวลาในการได้รับการยินยอมจากชาติสมาชิกอื่นอีก

ด้านฝั่งเงินดอลลาร์ ถึงตอนนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯเพิ่งจะทำการศึกษาวิจัยเงินดิจิทัลของธนาคารกลางเท่านั้น และการที่ประเทศต้องแก้ไขวิกฤตโควิด-19เป็นการด่วน ทำให้ระยะสั้นไม่มีทางที่ดอลลาร์ดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้ (ไม่เกี่ยวกับ Stablecoins อย่าง USDT,USDC ที่ไม่ถือว่าออกมาจากธนาคารกลาง)

ประเทศจีนมีข้อได้เปรียบที่นาทีนี้ถือว่าฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ก่อนใครบนโลก จำนวนประชากรกว่าพันล้านคน ที่สำคัญคือคุ้นเคยกับการชำระเงินและทำธุรกรรมบนออนไลน์อยู่ก่อนแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ทันทีที่นำหยวนดิจิทัลออกสู่ตลาดจริง น่าจะมีผู้ใช้งานแตะล้านรายได้ในเวลารวดเร็ว

ล่าสุด ซีเคียวริตีส์ ไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า แมคโดนัลด์ สตาร์บัคส์ และ ซับเวย์ เป็นบริษัทสหรัฐ 3 แห่งในบรรดาบริษัททั้งหมด 19 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนำร่องของธนาคารกลางจีน (PBOC) ในการพัฒนาสกุลเงินหยวนดิจิทัลที่เมืองสงอันในมณฑลเหอเป่ยทางภาคเหนือของจีน ไม่นับผู้ที่ใช้แพลตฟอร์ม Alipay และ Wechat Pay กว่าพันล้านคนทั่วโลก ที่พร้อมใช้งานสกุลเงินใหม่นี้ในทันที

ยืนยันเสถียรภาพของสกุลเงินใหม่นี้เหนือกว่าบิทคอยน์

คุณสมบัติของหยวนดิจิทัลจะอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ไม่ได้ทำงานบน Decentralized Blockchain แต่อย่างไร นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการนำสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวไปใช้งานจะต้องสำรองเงินหยวนปกติทั้งหมด 100% เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซัพพลายของเงินเกินความจำเป็นจนทำให้เกิดเงินเฟ้อ

จะเรียกได้ว่าหยวนดิจิทัลก็คือการนำทุนสำรองของจีนที่มีอยู่เปลี่ยนไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลนั่นเอง  จึงเป็นมิตรต่อตลาดการเงินดั้งเดิม

อีกคุณสมบัติหนึ่งของหยวนดิจิทัลคือระบบสำรองข้อมูลสองชั้นรวมถึงการนำไปใช้งานได้แม้ว่าจะไม่ได้ต่ออินเทอร์เนตอยู่ เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางจีนถึงกับบอกว่าสกุลเงินนี้มีเสถียรภาพมากกว่าบิทคอยน์เสียอีก

สถาบันการเงินจีนพร้อมรับหยวนดิจิทัล

ไม่นานมานี้ ICBC ธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศจีนได้เปิดเผยรายละเอียดของ Whitepaper ที่เขียนถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับอุตสาหกรรมการการเงินและธนาคาร ถือเป็นเอกสารชิ้นแรกของอุตสาหกรรมธนาคารที่ชูเรื่องบล็อกเชนขึ้นมาโดยเฉพาะ

Whitepaper ยังระบุด้วยว่าธนาคารฯมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำไปปรับใช้กับบริการทางการเงินอย่างการบริหารซัพพลายเชน เทรดไฟแนนซ์ บริหารจัดการกองทุน ระบบการชำระเงิน รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล

การที่ธนาคารขนาดใหญ่ของจีนออกเตรียมพร้อมในการใช้บล็อกเชนกับอุตสหากรรมการเงิน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เงินดิจิทัลหยวนจะถูกนำไปใช้ในวงกว้าง (Mass Adoption) ได้อย่างรวดเร็ว

แล้ว Libra ล่ะจะสู้ได้ไหม??

ล่าสุด Facebook ผู้พัฒนาสกุลเงินดิจิทัล Libra ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางปฎิบัติและ Whitepaper ใหม่ หลังจากที่ถูกต่อต้านจากนักการเมืองสหรัฐฯรวมถึงธนาคารกลางทั่วโลกเป็นอย่างมากก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความโปร่งใสและช่องว่างในการนำไปใช้ชำระเงินที่ผิดกฎหมาย 

การปรับเปลี่ยนล่าสุดมีใจความสำคัญคือเปลี่ยนให้ Libra อยู่ภายใต้ Stablecoins ซึ่งหนุนหลังโดยห้าสกุลเงินหลักของโลกแทน รวมถึงยอมที่จะอยู่ภายใต้การกำกับทางด้านการเงินของแต่ละประเทศ วางเป้าที่จะเปิดตัวใช้งานภายในปีนี้

ทั้งสองสกุลมีความคล้ายกันตรงที่ไม่ได้ใช้งานบน Decentralized Blockchain กล่าวคือมีผู้ที่ควบคุมดูแลอยู่ จุดประสงค์ที่ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการชำระเงินเงินบนออนไลน์และมีทุนสำรองที่เป็น Fiat Currency หนุนหลังอยู่

ต่างกันตรงที่ หยวนดิจิทัล ควบคุมโดยภาครัฐ ส่วน Libra บริหารจัดการโดยเอกชนนั่นคือสมาคม Libra ถึงตรงนี้อาจจะยังเร็วไปที่จะบอกว่าใครจะเหนือกว่าใคร แต่ที่แน่ๆคือ New Normal ในยุคหลังวิกฤตโควิด-19 น่าจะสนับสนุนสองสกุลเงินดิจิทัลนี้ได้มากทีเดียว

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง :  วิกฤตโควิด-19 กับการแจ้งเกิดของเงินดิจิตอลและบล็อกเชน

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN