fbpx
Skip to content Skip to footer

การมาของ “หยวนดิจิทัล-ลิบรา” เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตคนไทย เราควรเรียนรู้อะไรจากมัน

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่จบลง แต่โลกการเงินกำลังเกิดปรากฎการณ์สำคัญขึ้นนั่นคือการมาของสอง สกุลเงินดิจิทัล อย่าง หยวนดิจิทัล หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า DC/EP 

รวมถึงการกลับมาอีกครั้งของ ลิบรา สกุลเงินดิจิทัลของ Facebook ที่ไปปรับปรุงกฎระเบียบใหม่มาให้เข้ากับการกำกับดูแลและตั้งเป้าจะเปิดให้ใช้งานภายในปีนี้

สองสกุลเงินดิจิทัลนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร คนไทยได้อะไรจากสิ่งนี้ และชีวิตเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

ไม่ช้าก็เร็วคนไทยมีสิทธิได้ใช้สองสกุลเงินดิจิทัลนี้

ด้วยจำนวนผู้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ Facebook รวมทั้ง Whatapps และ Instagram รวมกัน 3,300 ล้านคนทั่วโลก (หนึ่งในนั้นย่อมมีเราอยู่ด้วย) เมื่อไรที่ Facebook เปิดให้ใช้งานสกุลเงินลิบรา แม้จะมีผู้เริ่มต้นเพียงแค่ 1% แต่นั่นก็หมายถึงจำนวนผู้ใช้กว่า 33 ล้านคนเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทยแล้ว 

แม้ขั้นตอนการใช้อาจจะยุ่งยากขึ้น เพราะการที่จะใช้เงินบาทกับสกุลเงินลิบราตามระเบียบใหม่ที่นำเสนออกมาจะต้องขออนุญาตเข้ามาที่สมาคมลิบราและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายทางการเงินของประเทศนั้นๆ

แต่นั่นนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในการใช้เงินลิบราที่มากขึ้น ทำให้อาจมีสถาบันการเงินรวมถึงแพลตฟอร์มทางด้านดิจิทัลในประเทศไทยบางแห่งนำสกุลเงินลิบราเข้ามาใช้งาน 

ขณะที่คนจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่เข้ามายังประเทศไทยต่อปีในอัตราที่สูงและเริ่มเห็นสัญญาณของการกลับมาอีกครั้งหลังวิกฤติโควิด-19 เมื่อใดที่จีนเปิดให้ใช้เงินหยวนดิจิทัลแล้วอาจมีบางส่วนที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

การที่จีนเปิดทดลองใช้หยวนดิจิทัลกับเชนร้านอาหารระดับสากลอย่างสตาร์บัคส์และแม็คโดนัลด์ คือการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งว่าจีนต้องการให้ สกุลเงินดิจิทัล ดังกล่าวถูกใช้ในระดับสากลไม่ใช่เพียงแค่ภายในประเทศ

บทความที่เกี่ยวข้อง : สินทรัพย์ดิจิทัลคืออะไร? มันพิเศษกว่าสินทรัพย์ทั่วไปอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

โอกาสทางการค้าขายแบบไร้พรมแดน

ปัจจุบันคนไทยมีการใช้แพลตฟอร์มของ Facebook ในการทำธุรกิจเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะการขายของทางออนไลน์ จะเห็นได้ว่า Facebook ได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ที่สนับสนุนให้การค้าขายบนแฟนเพจทำได้สะดวกขึ้น รวมถึงระบบการชำระเงินที่ปัจจุบันยังพึ่งพาระบบการเงินเดิม

แต่หากมี ลิบรา เกิดขึ้นต้นทุนการชำระเงินจะลดลงอย่างมากหรืออาจจะไม่มีเลย ต่างจากปัจจุบันที่หากมีการชำระเงินข้ามประเทศหรือต่างสกุลเงินจะเสียค่าธรรมเนียม นี่คือโอกาสในการที่คนไทยจะผลิตสินค้าหรือบริการที่สามารถขายให้กับคนทั้งโลกได้ เพราะอุปสรรคทางการชำระเงินที่หายไป

ขณะที่หยวนดิจิทัลน่าจะเป็นเครื่องมือในการขยายฐานผู้ใช้งานเงินหยวนให้กระจายออกไปนอกประเทศจีนด้วยคุณสมบัติของการเป็น สกุลเงินดิจิทัล ที่ใช้งานได้อย่างไร้พรมแดน ชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยมีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าระบบเก่าซึ่งจีนค่อนข้างที่จะควบคุมการไหลออกของเงินหยวน 

หากจีนเลือกที่จะใช้หยวนดิจิทัลในการเป็นสื่อกลางค้าขายกับชาวต่างชาติตามยุทธศาสตร์ One Belt One Road นี่คือโอกาสของคนไทยที่จะได้ค้าขายกับชาวจีน ประเทศที่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 ด้วยสกุลเงินใหม่นี

สกุลเงินดิจิทัลคือหนึ่งใน New Normal หลังวิกฤติโควิด-19

การเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิด New Normal อย่าง Social Distancing และ Work From Home ทำให้เกิดการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์มากขึ้น รวมไปถึงการชำระเงินด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของผู้ใช้งานจะเปลี่ยนไปหลังพบว่าการทำธุรกรรมบนออนไลน์มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วและค่าธรรมเนียมต่ำ เป็นไปได้สูงกว่าสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น

สกุลเงินดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์รวมถึงหยวนดิจิทัลและลิบรา จะเป็นกลไกสำคัญของสังคมไร้เงินสดที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มตัวในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : จำนวน Wallet บิทคอยน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างการ Halving สองครั้งล่าสุด

ประเทศไทยก็กำลังจะมีเงินดิจิทัลของตัวเอง

ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการเงินภายใต้โปรเจคต์ “อินทนนท์” โดยใช้เทคโนโลยี DLT มาใช้ในการโอนเงินรวมถึงธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Inter Bank) แม้จะยังไม่ถือว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัลอย่างเต็มตัวหรือคนไทยทั่วไปได้ใช้งาน 

แต่เมื่อแพลตฟอร์มดังกล่าวเสร็จสิ้น ประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการมาของ สกุลเงินดิจิทัล ของเงินบาทได้ซึ่งอนาคตประเทศไทยอาจจะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางหรือ CBDC เป็นของตัวเองเช่นเดียวกับธนาคารกลางอื่นๆที่เริ่มต้นพัฒนาไปแล้วอย่างเช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เอสโตเนีย เกาหลีใต้ 

มีคำกล่าวจากองค์กรด้านการเงินระดับโลกอย่าง IMF ที่ออกมาบอกว่าหากธนาคารกลางใดไม่พัฒนา CBDC เป็นของตัวเองก็อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง  เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงเงินดิจิทัลที่กำลังเป็นกระแสหลักของโลก

โลกการเงินหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างชนิดที่เราจินตนาการตามไม่ถึงและเทคโนโลยีใหม่ๆนั้นจะไม่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไป อยู่ที่ว่าเราจะเกาะไปตามกระแสนั้นหรือจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ธนาคารกลางจีนวางเป้าประเทศต้องเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวภายในปี 2021

มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลหลังวิกฤติโควิด-19

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทยที่เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นช้าลง และเริ่มมีการคลาย lock down เพื่อให้คนสามารถกลับไปดำเนินชีวิตเฉกเช่นที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี วิถีชีวิตของเราคงไม่เหมือนเดิมและจะต้องก้าวเข้าสู่ new normal จากการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อลดการสัมผัส (contactless) มากขึ้น

หนึ่งใน new normal ที่หลาย ๆ คนพูดถึงคือ สังคมไร้เงินสดรวมถึงการเข้ามาของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีโอกาสเกิดได้เร็วขึ้น 

การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่หันมาใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นจากกระแสการทำงานที่บ้านและการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการขอรับความช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐที่ต้องทำผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลเร่งให้การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอาจเกิดได้เร็วขึ้น

นอกจาก สกุลเงินดิจิทัล ของธนาคารกลางแล้ว สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่มีการคิดค้นก่อนหน้าและดำเนินการผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) อาจจะเป็นที่นิยมมากขึ้น 

ส่วนหนึ่งจากกระแสของการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงข้อดีของคริปโทเคอร์เรนซีที่ใช้งานได้ง่าย รวดเร็ว โดยไม่ต้องดำเนินการผ่านตัวกลาง

คุณสมบัติสำคัญเรื่องความโปร่งใสของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ข้อมูลธุรกรรมจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สภากาชาดของเนเธอร์แลนด์และอิตาลีได้ยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นหนึ่งในช่องทางการบริจาคผ่านทางเว็บไซต์เพื่อนำไปจัดซื้อเวชภัณฑ์ รวมถึงรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมองว่า สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นอย่างดิจิทัลโทเคน (Digital token) ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้กำหนดสิทธิของบุคคลที่มีต่อสินทรัพย์ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น หุ้น สิทธิบัตร อาจเป็นช่องทางในการระดุมทุนแบบใหม่ในระบบเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น


ทั้งหมดนี้ อาจจะเป็น new normal ของโลกการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราจึงต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง

เนื้อหาบางส่วนจากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทย

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN