fbpx
Skip to content Skip to footer

เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯลงมาเล่นเอง โอกาสหรือทางตันของวงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย??

ไม่นานมานี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ซึ่งเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่แยกตัวออกมาจากธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ได้แถลงความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลร่วมกัน

ถือเป็นครั้งแรกที่องค์กรหลักด้านตลาดทุนของไทยและธนาคารขนาดใหญ่ที่ลงมายังตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยตัวเอง หลังจากที่ผ่านมามีเพียงธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นผู้เล่นหลัก

การลงทุนดังกล่าวประกอบไปด้วยพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจรบนเทคโนโลยีประมวลผลและจัดเก็บแบบกระจายศูนย์  (Distributed Ledger Technology) ครอบคลุมตั้งแต่การเชื่อมต่อกับระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล  ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงบริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยจะทำการจัดตั้งบริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (Thai Digital Assets Exchange Co., Ltd.) เป็นบริษัทในกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดย KBTG จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ประเทศไทยมีพระราชกำหนดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ใช้กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่ Exchange,Broker,Dealer รวมไปถึง ICO Portal มาตั้งแต่ปี 2561

แม้ว่าทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จะยังอยู่ในขั้นตอนของการยื่นขอไลเซ่นส์กับทาง ก.ล.ต. แต่ก็ได้มีการเปิดเผยถึงแผนธุรกิจโดยคร่าวๆออกมาอ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าแผนการดังกล่าวเป็นไปตามโรดแมปของ ก.ล.ต. ที่ต้องการยกระดับตลาดทุนไทยสู่ความเป็นดิจิทัล

โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นระบบเปิด (Open Architecture) ให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆสามารถเข้ามาเชื่อมต่อได้อย่างโปร่งใส ขณะที่มุมมองของ เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ระบุว่าสินทรัพย์ที่น่าจะถูกนำมาซื้อขายและระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวน่าจะเป็นรูปแบบของโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Asset Backed Token) 

อ้างอิงจากพระราชกำหนดสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แยกประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็นสองกลุ่มคือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น บิทคอยน์ อีธีเรียม ริปเปิล ฯลฯ อีกกลุ่มคือโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ Utility Token ซึ่งมีคุณประโยชน์หรือสิทธิประโยชน์แฝงอยู่ในโทเคน และ Investment Token ซึ่งมีการอ้างอิงกับสินทรัพย์ต่างๆ 

ทั้งนี้ Investment Token มีความแตกต่างจาก STO (Securities Token Offering) ตรงที่ผู้ถือไม่ได้มีความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆโดยตรงแต่ได้รับสิทธิจากผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือสินทรัพย์นั้นๆผ่านโทเคนดิจิทัล

แล้วอนาคตของวงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป??

ฟังจากการแถลงข่าวในวันนั้นดูแล้วมีความเป็นไปได้สูงว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะไม่ลงมาเล่นในสนามที่ Exchange และ Broker ที่ได้รับไลเซ่นส์และให้บริการไปแล้วและที่กำลังรอรับการอนุญาตจากทางการดำเนินอยู่นั่นคือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) อย่างเช่น บิทคอยน์ตลอดจน DeFi Token ที่ฮิตๆกันในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุดยังมี Exchange เปิดใหม่ที่ตัดสินใจประกอบธุรกิจซื้อขายเฉพาะ Token Digital เพียงอย่างเดียวเช่นกันนั่นคือ ERX (อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่นี้) จึงเป็นไปได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯน่าจะยึดแนวทางเดียวกันนี้ (แม้ว่าอะไรๆก็เกิดขึ้นได้ก็ตาม)

ารที่ผู้คุมตลาดการลงทุนของไทย (สามารถใช้คำนี้ได้ไม่ผิดเพี้ยน) ลงมาเล่นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถมองได้สองแง่มุมทั้งด้าน “บวก” และ “ลบ” ต่อวงการนี้

ข้อดีคือเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะมีความเข้าใจและมองสินทรัพย์ดิจิทัลในเชิงบวกมากขึ้นจากการที่หน่วยงานหลักด้านตลาดทุนลงมาเล่นเองและน่าจะมีการทำการตลาดอีกด้วยในอนาคต

ต้องยอมรับว่าการเกิดฟองสบู่ไอซีโอเมื่อสามปีที่แล้วตลอดจน Scam Project ที่เข้าข่ายการเป็นแชร์ลูกโซ่ ทำให้คนไทยมองธุรกิจในด้านลบมาตลอดและแทบไม่มีนักลงทุนในตลาดหุ้นหรือสินทรัพย์ดั้งเดิมหันมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเท่าไรนัก แม้ผู้ประกอบการ Exchange ในไทยจะออกมาบอกว่าจำนวนผู้เปิดบัญชีซื้อขายเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม

หากตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดให้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปีหน้าตามแผนที่วางไว้ เชื่อได้ว่าจะมีนักลงทุนหุ้นบางส่วนตัดสินใจเข้ามาในตลาดนี้ไม่มากก็น้อยซึ่งจะเป็นการขยายตลาดนี้ให้ใหญ่ขึ้น เช่นเดียวกับการเข้ามาของ “นักลงทุนสถาบัน” ที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาล

ตลอดจนการเกิด Ecosystem ของตลาดทุนยุคดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบขึ้น อนาคตสินทรัพย์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุน พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ จะถูกนำมาระดมทุนและซื้อขายในรูปแบบของดิจิทัลมากขึ้น

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับในความเป็นจริงว่าผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันและอนาคตที่เป็นสตาร์ทอัพหนีไม่พ้นที่จะต้องแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ที่เปรียบเสมือนยักษ์ไททัน..

ข้อมูลจากหน่วยงานตลาดทุนระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีวอลลุ่มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีการซื้อขาย 40,000 ล้านบาทต่อวันโดยเฉลี่ย ขอเพียงแบ่ง 10% จากจำนวนดังกล่าวก็มีสัดส่วนตลาดเหนือผู้ประกอบการ 6-7 รายที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว

ต้องยอมรับความจริงว่าหากโปรดักต์ไม่มีความแตกต่างกัน ผู้ที่เป็นนักลงทุนย่อมมีความมั่นใจในการซื้อขายกับผู้เล่นรายใหญ่ที่ได้รับการยอมรับมากกว่าธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างแน่นอน ไม่นับรวมเม็ดเงินด้านการตลาดที่มีมากกว่า

หันไปมองเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ตลาดหลักทรัพย์ SGX ได้มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุน Exchange ที่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างเช่น iStox (มีกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรจากไทยร่วมลงทุนด้วย) รวมถึงสร้างดัชนี iEdge เพื่อใช้เป็นมาตราฐานการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิทคอยน์และอีธีเรียมให้กับนักลงทุนสถาบัน..แต่ไม่ได้ลงมาเป็นผู้เล่นเอง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาจจะไม่ใช่ผู้คุมกฎแต่ก็จะเรียกได้ว่าเป็นผู้จัดการแข่งขันก็คงไม่ผิดเพี้ยน การลงมาเล่นในสนามเองอาจเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจสตาร์ทอัพในการที่จะแข่งขันและสร้างนวัตรกรรมใหม่ๆ ซึ่งในวงการเทคโนโลยีเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าบริษัทขนาดเล็กมีความคล่องตัวในการสร้างเทคโนโลยีใหม่มากกว่าองค์กรขนาดใหญ่

ได้แต่หวังว่า Ecosystem ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้คอนเซบท์ Open Architecture จะช่วยสนับสนุนให้วงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเดินหน้าไปได้ทุกองคาพยพ ทั้งผู้เล่นรายเล็กและรายใหญ่ หากเป็นเช่นนั้นประเทศไทยมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาคนี้

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง: วงการนี้มันเถื่อน Exchange 75 แห่งทั่วโลกต้องปิดตัวไปในปี 2020

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN