fbpx
Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Bitcoin ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านอำนาจรัฐได้อย่างไร?

เมื่อพูดถึง บิทคอยน์ (Bitcoin: BTC) หลายคนอาจยังมองว่ามันเป็นเครื่องมือทำกำไรระยะสั้นจากความผันผวนและการเติบโตที่รวดเร็วของมันจนไม่อาจมองเห็นและรับรู้ถึงจุดประสงค์หลักว่าจริง ๆ แล้วบิทคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร

บิทคอยน์ถูกนำเสนอครั้งแรกในปี 2009 ภายหลังจากการเกิดวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯอันส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยมีต้นเหตุมาจากการบริหารความเสี่ยงอันหละหลวม การปล่อยกู้และความโลภเกินขนาดของเหล่าธนาคาร แต่ดูเหมือนไม่มีใครได้รับบทเรียนใด ๆ เลยจากเรื่องนี้ เพราะธนาคารที่เป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจล้มละลาย หลายคนต้องสูญเสียบ้านและที่อยู่ไป กลับลอยตัวอยู่เหนือปัญหาเมื่อรัฐฯยื่นมือเข้ามาช่วย (Bailout) พร้อมกับมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างสุดโต่งที่เรารู้จักกันในชื่อ QE (Quantitative Easing)

นี่ช่างเป็นหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลและเหล่าชนชั้นนำไม่ได้เล่นเกมด้วยกฎเกณฑ์เดียวกับเรา เมื่อไหร่ที่เหล่าชนชั้นนำพบเจอกับปัญหา มันมักจะมีทางแก้แสนวิเศษเข้ามาช่วยเหลือเสมอ ต่างจากคนธรรมดาปัจเจกชนอย่างเรา ที่ต้องก้มหน้ารับผลที่ตามมาอย่างไม่มีทางเลี่ยงและไม่มีทางลัด

เงินที่ประชาชนส่วนมากต้องทำงานแลกเหงื่อต่างน้ำเพื่อที่จะได้มา กลับถูกสร้างขึ้นจากอากาศในพริบตาเพื่อมาลบล้างความผิดที่เกิดจากความโลภของเหล่าชนชั้นนำไม่กี่คน ปริมาณเงินมหาศาลที่ไหลเข้าสู่ระบบเข้ามาเจือจางเงินที่อยู่ในมือของทุกคนส่งผลให้มูลค่าของมันลดน้อยลงไปเป็นเงาตามตัว พูดง่าย ๆ คือทุกครั้งที่มีการพิมพ์เงินเพิ่ม เท่ากับเป็นการการปล้นอำนาจทางการเงินไปจากมือของคนส่วนใหญ่

บิทคอยน์ เงินที่ไม่เลือกข้าง

บิทคอยน์ ต่างจากเงินที่ออกโดยรัฐฯ (Fiat) ในด้านการมีอยู่จำกัดของมัน ซัพพลายทั้งหมดที่มีและจะมีขึ้นมาบนโลกนั้นมีอยู่เพียงแค่ 21 ล้านเหรียญ BTC เท่านั้น ไม่สำคัญว่าคุณเป็นใคร มีอำนาจมากขนาดไหน ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงในข้อนี้ได้

อีกทั้งความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของบิทคอยน์นั้นช่วยให้มั่นใจว่าบิทคอยน์ที่คุณถืออยู่นั้นเป็นของคุณจริง ๆ ต่างจากเงินฝากที่อยู่ในมือของธนาคารที่ต้องพบเจอกับมาตรการ Fractional Reserve หรือการเก็บเงินสำรองไว้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยธนาคารสามารถนำเงินอีก 90% ที่เหลือของคุณไปปล่อยกู้ต่อเพื่อทำกำไรและสร้างตัวเลขขึ้นมาในระบบได้ไม่รู้จบ

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ เมื่อนาย A ฝากเงิน 1,000 บาทเข้าไปในธนาคาร ธนาคารเก็บสำรองเงินไว้เพียง 100 บาท และปล่อยกู้อีก 900 บาทให้แก่นาย B ธนาคารเก็บเงินสำรองของนาย B ไว้เพียง 90 บาท และนำ 810 บาทที่เหลือไปปล่อยกู้ให้นาย C เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนจำนวนเงิน 1,000 บาทแรกทวีมูลค่ามากเกินกว่าความจริงไปนับร้อยเท่า และระบบทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า นาย B, C, D, E, … จะสามารถชำระหนี้ที่กู้ยืมไปได้โดยไม่ผิดชำระ

Image Courtesy: RollingAlpha

ปัญหามันมักจะเกิดขึ้นเมื่อปริมาณหนี้เสียที่ผิดนัดชำระมีจำนวนมาก และเมื่อประชาชนเกิดความวิตกและต้องการถอนเงินสดออกมาพร้อม ๆ กัน ทางธนาคารไม่มีทางเลยที่จะคืนเงินเหล่านั้นให้แก่พวกเขาได้ เพราะมันไม่เคยมีอยู่จริงตั้งแต่แรก ปรากฎการณ์เช่นนี้เรียกว่า Bank Run

คุณสมบัติที่สำคัญข้อสุดท้ายของบิทคอยน์คือการที่มันมีความกระจายศูนย์ (Decentralized) ไม่สามารถถูกปิดกั้นและไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากใคร (Censorship Resistant & Permissionless)

ทุกครั้งที่มีการออกมาต่อต้านรัฐบาลหรือระบบที่ไม่สมเหตุสมผลและยุติธรรม การที่พลเมืองมือเปล่าจะสามารถลุกขึ้นสู้ต่อกรกับอำนาจรัฐได้นั้นย่อมต้องการเงินทุน ไม่ว่าจะมาจากการเรี่ยไร บริจาค หรือมีผู้สนับสนุน แต่ระบบการธนาคารที่มีอำนาจรวมศูนย์นั้นสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเข้าแทรกแซงโดยอำนาจรัฐได้เสมอ ธนาคารสามารถอายัดและบังคับปิดบัญชีธนาคารเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ประท้วงสามารถนำเงินเหล่านั้นออกมาใช้จ่ายเพื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองที่พวกเขาไม่เห็นด้วยได้ในพริบตา และคุณอย่าหลงคิดไปว่าธนาคารจะปกป้องคุณ เพราะเขาไม่เคยเป็นพวกคุณตั้งแต่แรกอยู่แล้วดังเช่นเหตุการณ์ซับไพร์มที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น

นอกจากนี้ การใช้จ่ายด้วยระบบการเงินปรกตินั้นง่ายต่อการติดตามและตรวจสอบ รัฐฯสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่าย วันเวลา และสถานที่ของคุณผ่านธนาคารได้เสมอ ดังเช่นที่ธนาคาร HSBC ยอมให้รัฐบาลฮ่องกงที่หนุนหลังโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนตรวจสอบเส้นทางการเงินของประชาชนที่เข้าร่วมและสนับสนุนการชุมนุมอันนำไปสู่การปิดบัญชีและจับกุมผู้ประท้วง

การเลือกใช้ระบบการเงินที่เป็นกลางอย่างแท้จริงนั้นดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับเรื่องนี้ บิทคอยน์ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของระบบ ความกระจายศูนย์ทางอำนาจที่นักขุดทุกคนมีส่วนร่วมในการยืนยันธุรกรรมและตรวจสอบนั้นไม่ยอมจำนนต่อกฎหมายของรัฐใด ไม่มีประเทศใดมีอำนาจสามารถสั่งให้ปิดบัญชีหรือห้ามการทำธุรกรรมใด ๆ ของผู้ใช้บิทคอยน์ได้

มาจนถึงตอนนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วเราจะแลกบิทคอยน์เป็นเงินบาทได้อย่างไร หากภาครัฐปิดกั้นบัญชีหรือช่องทางรับแลกเปลี่ยนอย่าง Exchange ต่าง ๆ คำตอบก็คือ Whitepaper ของบิทคอยน์นั้นระบุชัดเจนว่ามันถูกสร้างมาเพื่อเป็น Peer-to-Peer Electronic Cash System

นั่นหมายความว่า ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนมันระหว่างกันเองได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่าง Exchange เลยด้วยซ้ำ เว็บไซต์อย่าง Paxful และ Localbitcoins นั้นเป็นเหมือนตลาดให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลและเงินกระดาษกันอย่างเสรี เราสามารถเลือกจะขายเงินบิทคอยน์เป็นเงินสด เข้าบัญชีธนาคาร กดออกมาจาก ATM และแลกเงินกลับไปเป็นบิทคอยน์กับผู้ใช้อื่น ๆ บนโลกนี้ได้โดยตรง พร้อมด้วยบริการ Escrow ที่จะคอยดูแลว่าการทำธุรกรรมของทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นไปอย่างสุจริต หรือจะนัดเจอเพื่อแลกเปลี่ยนโดยตรงก็สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ทางเลือกใหม่ที่คืนอำนาจทางการเงินกลับมาสู่ประชาชนโดยแท้จริงถือกำเนิดขึ้นแล้ว คุณอาจจะยังไม่ต้องการมันในวันนี้ แต่หากในอนาคต เมื่อใดที่คุณมีความต้องการจะหลุดออกจากกรอบอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐและธนาคาร บิทคอยน์จะยังอยู่ตรงนี้เสมอ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง: เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยจัดการเฟกนิวส์บน Twitter และ Facebook ได้อย่างไร?

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN