fbpx
Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

ธปท.เร่งศึกษาตั้งสกุลเงินดิจิทัลใช้เอง เพิ่มทางเลือกโอนเงินระหว่างบุคคล

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างศึกษาการใช้เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency) หรือ CBDC เพื่อนำมาใช้โอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลโดยไม่ผ่านบัญชีธนาคารเหมือนในปัจจุบัน

 ซึ่งหลักการในเบื้องต้น จะมีแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นในลักษณะกระเป๋าเงิน หรือวอลเลท และตั้งตัวกลางกระจายเงิน แต่วิธีใช้ต้องโอนตรงเข้าบุคคล เป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกในการโอนเงินให้ประชาชน

“แนวคิดนี้ ธนาคารกลางต้องเตรียมความพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังต้องใช้เวลาศึกษาค่อนข้างนาน เพราะจะต้องดูผลกระทบกับธุรกิจธนาคาร การบริหารสภาพคล่องธนาคาร เสถียรภาพระบบการเงิน และภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วย”

พร้อมกันนี้ ยังมีตัวกลางเพื่อคอยดูเงินที่โอนว่าติดขัด หรือขัดข้องประการใด เช่น นายเอโอนเงินให้นายบี แต่ระบบเกิดล่ม ทำให้จะต้องมีคนมาดูแลส่วนนี้ ซึ่ง ธปท.จะเห็นข้อมูลทั้งหมด 

แต่ไม่ได้มาทำธุรกรรมกับประชาชน และยืนยันว่าไม่ได้มาแข่งขันกับธุรกิจธนาคาร และที่สำคัญ CBDC ที่ใช้กับประชาชนต้องมีความปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ โดยมองว่าจะช่วยลดต้นทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย

น.ส.วชิรา กล่าวว่า สำหรับ CBDC ที่ ธปท.ได้เริ่มทดลองทำไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอินทนนท์ หลังจากเริ่มทำการโอนเงินระหว่างธนาคารกับธนาคารสำเร็จแล้ว และขณะนี้กำลังทดลองใช้ในภาคธุรกิจกับคู่ค้าของบริษัท นำร่อง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย 

รวมทั้ง ธปท.ได้ทดสอบโอนเงินข้ามประเทศกับธนาคารกลางฮ่องกง คาดจะได้ข้อสรุปการทดลองทั้งภาคธุรกิจและธนาคารกลางฮ่องกงภายในปีนี้ เพื่อนำไปออกแบบใช้ต่อยอดกับรายย่อยต่อไป

อย่างไรก็ดี CBDC จะแตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี่) ทั่วไป เพราะราคาจะคงที่ ไม่ผันผวนเหมือนกับบิทคอยน์ และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งเงินบาทที่เป็นดิจิทัลนี้สามารถนำมาทดแทนการใช้ธนบัตรได้ แต่การนำมาใช้กับประชาชนจะต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ก่อน และต้องใช้เวลาสักพักในการทดลอง เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่

ส่วนการพูดคุยกับเฟซบุ๊กในเรื่องของเงินดิจิทัลลิบราที่ผ่านมานั้น มองว่าทำให้ธนาคารกลางตื่นตัว แต่คงเป็นไปได้ยากและคงไม่ง่ายที่จะเข้ามาใช้ลิบราในไทย เพราะหากเฟซบุ๊กจะนำเข้ามา ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของประเทศนั้น ๆ ด้วย ซึ่งต้องมาดูว่าจะตีความสกุลเงินลิบราไว้เป็นประเภทใด โดยถ้าหากไม่เข้าเกณฑ์จะไม่สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้

ที่มาภาพประกอบ: Thairath.co.th

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง: (สรุปให้ง่าย) “อินทนนท์” หรือเงินบาทดิจิทัลเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตคนไทย

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN