fbpx
Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

ผู้เชี่ยวชาญเผย ระบบเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT) อาจไม่เหมาะกับธนาคารกลาง

เมื่อช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมานาง Kristalina Georgieva ผู้นำกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คนใหม่ ได้กล่าวกับประเทศสมาชิกทั้ง 189 ประเทศ ว่า “ผู้นำจะต้องก้าวไปพร้อมกับการพัฒนาในด้านฟินเทครวมถึงสกุลเงินดิจิทัล” โดยก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว อดีตประธาน IMF  นาง Christine Lagarde ก็ได้แนะนำให้ธนาคารกลางหันมามองเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้เช่นเดียวกัน 

ซึ่งทางด้านนาง Gita Gopinath หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ได้กล่าวแย้งว่า ยังคงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้พวกเขาปรับตัว โดยเธอได้กล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางและสกุลเงินดิจิทัลที่สร้างโดยบริษัทเทคโนโลยีเอกชนนั้น จะสามารถช่วยปรับปรุงในเรื่องความล่าช้า ต้นทุนที่สูง และความยุ่งยากในการชำระเงินข้ามพรมแดน แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะมาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์ได้ ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะเกิดการใช้สกุลเงินที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับธนาคารกลางนั้นยังอยู่อีกยาวไกล เนื่องจากยังมีปัญหาด้านระเบียบ ข้อบังคับ และเขตการใช้อำนาจศาลของประเทศที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ในงาน Bitcoin Expo 2020 ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและสกุลเงินดิจิทัลสามท่านมาพูดคุยถึงความท้าทายและโอกาสของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง โดยมองว่า Distributed ledger technologies (DLT) มีศักยภาพในการปรับปรุงแก้ไขระบบการเงินของโลกในได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการถกเถียงกันในเรื่องความท้าทายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความสามารถในการบูรณาการ และความยืดหยุ่นของตัวเทคโนโลยี

ผู้เชี่ยวชาญจาก IMF ยังคงสงสัยในบล็อกเชน

ทางด้านนาง Sonja Davidovic นักเศรษฐศาสตร์จาก IMF ได้ออกมาเตือนว่า ธนาคารกลางยังไม่ควรเร่งรีบที่จะนำระบบบล็อกเชนมาใช้งาน โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบความเหมาะสมของเทคโนโลยีให้ดีเสียก่อน โดยเธอได้กล่าวว่า “จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อมีกระแสต่าง ๆ ออกมามากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีอันใดอันหนึ่ง ผู้คนต่างมักไม่รีรอที่จะกระโดดเข้าร่วมวงเพียงเพราะเห็นว่ามันกำลังเป็นที่นิยมเท่านั้น”

“โดยครั้งนี้ มันก็เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีบล็อคเชนเช่นกัน ทำให้แม้แต่ธนาคารกลางก็เข้าไปมีส่วนร่วมโดยไม่มีการทดสอบเทคโนโลยี การพิสูจน์แนวคิด การเปิดประมูลอย่างเปิดเผยสำหรับผู้เข้าร่วม หรือแม่แต่การยื่นข้อเสนออย่างถูกต้องและเพียงพอ” นาง Davidovic เสริม

ถึงแม้ว่าจะมีระบบแบบกระจายศูนย์มากมายให้ธนาคารกลางเลือกใช้ แต่นาง Davidovic อ้างว่า ไม่มีระบบใดเลยที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นส่วนตัวและการทำงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ ธนาคารกลางยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางมักจะว่าจ้างบริษัทจากภายนอกให้มาทำการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ให้

“จุดอ่อนที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ ถึงแม้คุณจะมีระบบที่ปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าคนที่ใช้ระบบเกิดทำงานพลาดเป็นเหตุให้เกิดช่องโหว่ ระบบที่แข็งแกร่งที่สุดนี้ก็ไม่อาจช่วยอะไรคุณได้เลย”

นักวิจัย MIT: CBDCs อาจต้องใช้ระบบไฮบริด

ทางด้านนาย Robleh Ali นักวิทยาศาสตร์การวิจัยของ MIT Digital Currency Initiative และอดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) คาดการณ์ว่า ในที่สุดสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจะมาอยู่ในรูปแบบ “ไฮบริด” โดยเขาได้กล่าวว่า “ในท้ายที่สุดคุณจะต้องกลับมาใช้ระบบไฮบริด ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างเก่ากับใหม่ แต่ผมไม่คิดว่าธนาคารกลางทุกแห่งจะเลือกใช้ระบบเดียวกัน ซึ่งปัญหาที่คุณจะเชื่อมระบบที่ต่างกันนี้ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างไรนั้นจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบของแต่ละธนาคารกลางเชื่อมต่อกันได้”

FED เห็นประโยชน์ของบล็อกเชน แต่นั่นอาจยังไม่เพียงพอ

ทั้งนี้นาย Bob Bench ผู้อำนวยการด้านการวิจัยฟินเทคประยุกต์ สำหรับ Federal Reserve Bank of Boston ยืนยันว่า สกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin นั้นไม่สามารถรองรับปริมาณความต้องการของธนาคารกลางได้ โดยเขากล่าวว่า “BTC เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก โดยส่วนใหญ่มันได้ถูกใช้ในการทำธุรกรรมเพื่อส่งต่อมูลค่า ปีที่แล้วในประเทศจีน มีปริมาณการทำธุรกรรมกว่า 40 ล้านล้านครั้งผ่าน WeChat ถ้าคุณกำลังพยายามสร้างสกุลเงินของธนาคารกลาง คุณจะต้องมีระบบที่รองรับได้มากกว่านั้นอีกหลายเท่า เพื่อให้มีความสามารถในการรองรับการทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ล่มเสียก่อน”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะบอกว่า “DLT อาจใช้งานได้” แต่นาย Bench ก็ได้เรียกร้องให้ธนาคารกลางพิจารณาความเสี่ยงให้ดี ก่อนที่จะให้ความไว้วางใจอย่างเต็มที่ในการนำสกุลเงินของรัฐบาลไปไว้บน DLT

นาย Bench ยังได้เสริมอีกว่า Alipay และ WeChat กำลังร่วมมือกันสร้างธนาคารกลางสำหรับเงินดิจิทัลของโลก หลังจากที่ธนาคารกลางของจีนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ทั้งสองแพลตฟอร์มโดยตรงตั้งแต่กลางปี 2019 ที่ผ่านมา

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง: CTO ของ PayPal เผย คริปโตฯ ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกเยอะ

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN