fbpx
Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

จะเกิดอะไรขึ้นกับสินทรัพย์ดิจิทัลของเราเมื่อเราเสียชีวิตลง?

สินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin นั้นหากเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีแล้วมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนอื่นนอกจากเจ้าของหรือคนที่รู้รหัส Private Key จะเอามันไปได้ แม้นี่ถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของบิทคอยน์ แต่คำถามคือ ถ้าเกิดเราเสียชีวิต จะเกิดอะไรขึ้นกับสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านั้น?

คำตอบก็คือ มันจะถูกล็อกไว้อยู่บนบล็อกเชนไปตลอดกาลโดยไม่มีใครสามารถนำมันออกมาใช้ได้ จากการประมาณการของบริษัท Coincover คาดว่าปัจจุบันนี้มีบิทคอยน์กว่า 4 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาทนั้นถูกล็อกไว้บนบล็อกเชนไปตลอดกาล อันมีสาเหตุมาจากทั้งการทำ Private Key หาย หรือแม้แต่การที่เจ้าของเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ได้มอบหมาย Private Key ให้แก่ผู้อื่นนั่นเอง

ในบางกรณีอย่างครอบครัวของชายคนหนึ่งผู้ครอบครองบิทคอยน์จำนวนมากไว้บนเว็บเทรด Coinbase เกิดเสียชีวิตลงโดยที่ไม่ได้ให้วิธีหรือรหัสผ่านเพื่อนำบิทคอยน์ออกมาจากทาง Exchange แต่นับเป็นโชคดีที่หลังจากทางครอบครัวได้นำหลักฐานการเสียชีวิตและการใช้งานแพลตฟอร์มไปร้องต่อทางเว็บเทรด Coinbase ก็อนุญาตให้ทางครอบครัวสามารถถอนบิทคอยน์ออกมาได้เต็มจำนวน

แต่ผู้อื่นอาจไม่โชคดีแบบครอบครัวนี้ หากเว็บเทรดที่ใช้บริการตั้งอยู่ในประเทศอื่น หรือครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่มีหลักฐานเพียงพอ ก็อาจไม่สามารถนำสินทรัพย์ที่ฝากไว้ออกมาได้โดยง่าย

คนส่วนใหญ่กังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเงินคริปโตของพวกเขาหลังเสียชีวิตลง

ทางสถาบัน Cremation Institute ได้จัดทำการสำรวจถึงความรู้สึกของผู้ครอบครองคริปโตเคอเรนซี่จำนวนกว่า 1,150 รายว่า พวกเขามีความกังวลบ้างหรือไม่กับการที่สินทรัพย์ดิจิทัลของพวกเขาอาจหายไปตลอดกาลเมื่อพวกเขาจากโลกนี้ไป

โดยจากผลสำรวจเห็นได้ว่า ไม่มีผู้ตอบแบบสอบถามคนไหนเลยที่ไม่มีความกังวล โดยคนรุ่นใหม่อายุ 18 – 40 ปีส่วนใหญ่จะเคยคิดถึงเรื่องนี้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก ขณะที่คนวัยกลางคนและสูงอายุดูเหมือนจะกังวลกับเรื่องนี้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

Image Courtesy: Cremation Institute

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า มีแผนการหรือได้ระบุวิธีการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ญาติและคนสนิทหรือไม่หากตนเองเสียชีวิตลง คนรุ่นใหม่อายุ 18 – 25 ปีเกินกว่าครึ่งระบุว่า ไม่ได้มีแผนการรองรับไว้เลย ขณะที่คนวัยทำงาน วัยกลางคน และวัยชรามักจะมีการจัดทำแผนและวิธีการไว้เรียบร้อย โดยมีบางส่วนได้ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือจัดตั้งกองทุนหลังการเสียชีวิตอีกด้วย

Image Courtesy: Cremation Institute

โดยผู้ที่มีแผนจะส่งต่อสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ครอบครัวส่วนใหญ่ถึง 65% ระบุว่า พวกเขาทิ้งวิธีการเข้าถึงเงินดิจิทัลไว้ในบ้านเพื่อที่ครอบครัวจะได้หาเจอและใช้งานมันหลังจากพวกเขาเสียชีวิต โดยอีก 32% ระบุว่า พวกเขาเขียนรายละเอียดการเข้าถึงเงินดิจิทัลและเซฟมันเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์หรือ USB ในขณะที่มีเพียง 2% เท่านั้นที่เก็บรหัสการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ในตู้เซฟ

ท้ายที่สุดนี้ ความตายสามารถมาเยือนเราได้อยู่ทุกเมื่อ เราจึงไม่ควรประมาทและจัดทำแผนการเผื่อไว้สำหรับอนาคต โดยเพื่อหลังจากที่เราจากโลกนี้ไปแล้ว ครอบครัวและคนรักของเราจะยังสามารถใช้ประโยชน์จากการลงทุนของเราได้

วิธีการนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่เขียน Private Key วิธีการใช้ และรายละเอียดของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ไว้ในกระดาษหรือ USB และเก็บมันไว้ในที่ปลอดภัย หรือจะจัดทำพินัยกรรมและให้ทนายผู้ดูแลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแบ่งสินทรัพย์ให้แก่ผู้รับมรดก แต่ไม่แนะนำให้เก็บรหัส Private Key ไว้ในคอมพิวเตอร์ที่มีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเป็นอันขาดเนื่องจากอาจมีผู้ประสงค์ร้ายลักลอบเข้ามาขโมยมันไปได้ทุกเมื่อ และไม่แนะนำให้บอกที่เก็บรหัสหรือวิธีการแก่คนอื่นที่ไม่ไว้ใจเป็นอันขาด เพราะในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว “ใครมีกุญแจ ก็ถือว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของ” นั่นเอง

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง: ทำความรู้จัก “บิทคอยน์” ราชาแห่งเงินดิจิทัล

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN