fbpx
Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

เจ้าหน้าที่ IMF ชี้ ข้อดี – ข้อเสีย ที่มาพร้อมกับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC)

นาย Tao Zhang รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ที่ London School of Economics เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีเนื้อหาบ่งบอกถึงประโยชน์ รวมไปถึงข้อควรระวังของธนาคารกลาง และแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้

ข้อดี

นาย Zhang ชี้ให้เห็นว่า CBDC จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนลง โดยกล่าวว่า “ในบางประเทศ ค่าใช้จ่ายในการจัดการดูแลรักษาเงินสดนั้นถือว่าสูงมากอันมีปัจจัยมาจากทางด้านภูมิศาสตร์  และระบบการเงินแบบดั้งเดิมนั้นอาจไม่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท คนชายขอบ และคนยากจน” เขากล่าวในคำปราศรัยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ซึ่งมีผู้เข้าชมเว็บในวันที่ 19 มีนาคม

เขายังพูดต่อเนื่องไปถึงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเงินสำหรับประชาชนทุกคนว่า “เงินดิจิทัลของธนาคารกลางนั้นจะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงระบบการเงินและการชำระเงินได้โดยไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร” รวมไปถึงประโยชน์อื่น ๆ ของ CBDC ทั้งด้านความมั่นคงและความเข้มแข็งของนโยบายทางการเงิน

นอกจากนี้นาย Zhang ยังให้ความเห็นว่า CBDC นั้นสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ต่อกรกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้

“สกุลเงินดิจิทัลที่ออกในประเทศที่ค้ำประกันด้วยความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและอยู่ในหน่วยของสกุลเงินที่คนในประเทศคุ้นเคย อาจช่วยจำกัดการนำสกุลเงินที่ออกให้โดยเอกชนจำพวก Stablecoins มาใช้ เพราะพวกมันควบคุมได้ยากและอาจสร้างความเสี่ยงต่อสเถียรภาพทางการเงินและการออกนโยบาย”

ข้อเสีย

อย่างไรก็ตาม นาย Zhang ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงด้านลบของ CBDC ด้วยเช่นกัน โดยเขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างเงิน CBDC ที่ต้องถูกออกแบบมาอย่างดีและถี่ถ้วน แต่ลดและกำจัดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยชี้ให้เห็นว่า เงินดิจิทัลของธนาคารกลางนั้นจะดึงลูกค้าออกไปจากธนาคารพานิชย์ต่าง ๆ และเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ธนาคารกลาง

เขายังระบุด้วยว่า ธนาคารกลางต้องแบกรับความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการสร้างเงิน CBDC นี้ โดยระบุว่า “การออกเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล และหากดูแลได้ไม่ดีพอก็จะส่งผลต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของตัวธนาคารกลางเองอีกด้วย”

“การออกเงินดิจิทัลของตัวเองอย่างแบบเต็มรูปแบบนั้น ธนาคารกลางจำต้องสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบบรับชำระเงิน ระบบ Front-end สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป กระเป๋าเก็บเงินดิจิทัล การพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี การคอยควบคุมรายการธุรกรรม รวมไปถึงการดูแลและบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ เช่น กฎหมายต่อต้านการฟอกเงิน”

นาย Zhang กล่าวต่อไปว่า การโจมตีทางไซเบอร์และข้อผิดพลาดต่าง ๆ ของระบบที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานั้น จะส่งผลให้ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของธนาคารเกิดการด่างพร้อยอีกด้วย

แนวทางใหม่ ๆ

เขาจึงได้เสนอแนวทางการสร้าง CBDC ในรูปแบบผสม หรือ sCBDC โดยเงินดิจิทัลดังกล่าวจะเกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางและภาคเอกชน “ภาคเอกชนจะเป็นผู้ออกเหรียญโดยได้รับการค้ำประกันจากเงินสำรองของธนาคารกลาง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลาง”

เงินดิจิทัลของธนาคารกลางนั้นเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากมาระยะหนึ่งแล้ว โดยประเทศสวีเดนได้เริ่มทดสอบเงิน CBDC ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และธนาคารกลางอื่น ๆ หลายแห่งได้ถกเถียงกันถึงข้อดีและข้อเสีย โดยล่าสุดนี้มีข่าวลือออกมาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจใช้เงินดิจิทัลดอลลาร์เพื่อทำการแจกจ่ายเงินบรรเทาภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรนาเพื่อการเข้าถึงประชาชนที่ครอบคลุม และลดการใช้ธนบัตรที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัสอีกด้วย แต่ทางรัฐบาลยังไม่ได้ให้รายละเอียดหรือข้อสรุปแต่อย่างใด

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง: BitMEX Research เผย การออก CBDC ของธนาคารกลางอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ

Leave a comment

เกี่ยวกับ NewsFirstLine

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN